fbpx

อันเนื่องมาจาก ทีมงานโซล่าฮับ ได้เข้านำเสนอการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคา สำหรับใช้เองเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นรูปแบบการติดตั้ง โซล่าเซลล์ แบบออนกริด ก็จะได้รับความต้องการเพิ่มเติมจากเจ้าของอาคารหรือโรงงานว่า อยากจะติดตั้งแบตเตอรี่เข้าไปด้วย เพื่อเป็นการเก็บพลังงานที่ผลิตได้มาทดแทน ในช่วงเวลากลางคืนได้หรือไม่? ซึ่งทีมงานโซล่าฮับ ได้นำเสนอเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าได้ตัดสินใจ ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ กับท่านอื่นๆที่กำลังศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบไฮบริดส์ ซึ่งก่อนที่จะกล่าวถึงระบบไฮบริดส์ ก็ต้องกล่าวรูปแบบการนำไปใช้งานของระบบโซล่าเซลล์ ดังนี้

 

รูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยโซล่าเซลล์ แบ่งตามการนำไปใช้งานเป็น 3 ประเภท ดังนี้

 

1.ระบบอ๊อฟกริด (Off Grid) หรือ แบบอิสระ ( Stand Alone ) : คือระบบที่ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ แล้วไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับระบบจำหน่าย ของการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบบนี้เหมาะกับสถานที่ไม่มีไฟฟ้า หรือที่ไฟเข้าไม่ถึง ไม่คุ้มที่จะเดินลากสายไฟยาวๆเข้ามาใช้เนื่องจากต้นทุนสูง โดยระบบนี้ไม่ต้องขออนุญาตติดตั้งกับหน่วยงานภาครัฐ

2.ระบบออนกริด ( On Grid ) หรือ แบบเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ( Grid Connected ) : เป็นระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ แล้วเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้ ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยอุปกรณ์ Inverter แล้วไปเชื่อมต่อเข้ากับระบบจำหน่ายไฟของ การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยข้อดี

    2.1สามารถนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้กับ การไฟฟ้าฯ ทั้งนี้ต้องได้โควต้าให้ขายไฟจากภาครัฐก่อน ล่าสุดปิดรับสมัครแล้วเมื่อ เดือนมิถุนายน 2558 และมีข่าวแว่วๆจากกระทรวงพลังงาน ว่าอาจมีการเปิดขายไฟคืน อีกรอบในเดือนกันยายน 2560

    2.2นำไฟฟ้าที่ได้มาใช้งานเองเพื่อลดค่าไฟฟ้า โดยหลักการคืออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านหรือโรงงานของเราจะดึงกระแสไฟฟ้าจากระบบโซล่าเซลล์มาใช้งานก่อน หากไม่พอกับการใช้งาน จึงไปดึงกระแสไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้าฯ มาใช้งานทดแทน แต่ข้อเสียของระบบนี้คือช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์หรือเวลากลางคืน ก็จะไม่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาซึ่งช่วงนี้ก็จะต้องดึงพลังงานไฟฟ้ามาจากระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯมาใช้งาน และระบบนี้ต้องขออนุญาตติดตั้งและขอเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายฯจากการไฟฟ้าฯ โดยอินเวอร์เตอร์ที่นำมาใช้งานจะเรียกว่า กริดไทร์ อินเวอร์เตอร์ (Grid Tire Inverter) ซึ่งแต่ละรุ่นที่นำมาใช้งานจะต้องผ่านทดสอบจากการไฟฟ้าฯก่อน

***ซึ่งระบบนี้เป็นระบบใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และก็เป็นระบบที่ทีมงานโซล่าฮับ นำเสนอติดตั้งกับลูกค้าทั่วๆไป

3.ระบบไฮบริดส์ ( Hybrid ) หรือแบบผสม : เป็นระบบที่นำเอา ระบบออนกริด และ อ็อฟกริด มารวมกันคือจะมีระบบแบตเตอรี่ มาสำรองพลังงาน ใช้งานในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ และสำหรับกรณีที่เมื่อมีแสงอาทิตย์แล้วผลิตกระแสไฟฟ้าได้หากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากกว่าที่นำมาใช้งาน ระบบก็นำกระแสไฟฟ้านั้นชาร์จเข้าแบตเตอรี่ เพื่อนำมาใช้งานได้ต่อไป พอถึงเวลากลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ไม่ได้ ระบบก็จะไปนำเอากระสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ก่อน หากยังไม่เพียงพอ ระบบก็จะไปดึงไฟฟ้ามาจากระบบจำหน่ายมาชดเชยอีกทีหนึ่ง

การนำระบบไฮบริดส์ มาประยุกต์ใช้งานในประเทศไทย

     วิธีที่1. หากต้องการจะนำระบบไฮบริดส์ มาใช้ในประเทศไทย ต้องมีการติดตั้งแบตเตอรี่ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเก็บพลังงานไว้ใช้ในตอนกลางคืนได้ และต้องเปลี่ยน Grid Tire Inverter เป็น Hybrid Inverter ซึ่งในบัจจุบันนี้ (28/01/60) เท่าที่ทีมงานโซล่าฮับได้ตรวจสอบ ในประเทศไทย ยังไม่มี Hybrid Inverter รุ่นใดเลย ที่ผ่านการทดสอบจาก กฟน.และ กฟภ. ซึ่งหากนำมาใช้งานแล้วไปขอเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ ก็จะไม่ได้รับอนุญาต จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งก็มีบางแห่งอาจสั่ง Hybrid Inverter จากจีนมาติดตั้งแล้วเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายฯ โดยไม่ขออนุญาตกับการไฟฟ้าฯ ซึ่งถือว่าผิดระเบียบของหน่วยงานภาครัฐ และ Hybrid Inverter ส่วนใหญ่ที่สั่งมาก็รับประกันแค่1-2ปีเท่านั้น ซึ่งทีมงานโซล่าฮับไม่ขอรับดำเนินการในส่วนนี้ เกรงว่าจะเกิดปัญหาการให้บริการหลังการขายและอื่นๆในอนาคต

     

     วิธีที่2. อินเวอร์เตอร์ ที่โซล่าฮับนำเสนอให้ลูกค้าเป็น Grid Tire Inverter ยี่ห้อ SolarEdge จากประเทศอิสราเอล ซึ่งสามารถมาทำให้เป็นระบบไฮบริดส์ ได้โดยการติดตั้งแบตเตอรี่และอุปกรณ์ StorEdge เพิ่มเติมเข้าในระบบเพื่อเป็นตัวตัด-ต่อ หรือตัดสินใจว่าช่วงเวลาใดที่ใช้ไฟจากโซล่าเซลล์ หรือไฟจากแบตเตอรี่ หรือไฟจากการไฟฟ้าฯ แต่ในขณะนี้ (28/01/60) ยังติดปัญหาอยู่ 2ประการคือ

          a. ตัวแทนจำหน่าย SolarEdge ในประเทศไทย แจ้งว่าขณะนี้อุปกรณ์ StorEdge กำลังอยู่ในระหว่างการนำเข้ามาจำหน่าย ซึ่งก็น่าจะนำมาจำหน่ายเป็นทางการได้ประมาณปลายปี พ.ศ.2560 และราคาก็ยังไม่ได้กำหนด

          b. แบตเตอรี่ ที่นำมาต่อใช้งานกับระบบ StorEdge ใช้ได้ แค่2 รุ่น คือ Tesla Powerwall Home และ LG Chem RESU ซึ่งปัจจุบันนี้ในประเทศไทยยังไม่มีจำหน่าย คงต้องรออีกระยะเวลาหนึ่ง และขอกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบตเตอรี่ว่าในขณะนี้เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ กำลังอยูในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากแบตเตอรี่ที่ใช้ตะกั่ว ในปัจจุบันที่อายุการใช้งานสั้น 2-5 ปี กำลังจะเปลี่ยนเป็นเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ที่อายุการใช้งานยาวนานขึ้น ซึ่งคงต้องรออีกสักระยะหนึ่งน่าจะมีความเสถียรภาพมากกว่านี้ทั้งด้านราคา , คุณภาพ และอายุการใช้งาน เนื่องจาก บ.Tesla กำลังก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ ที่ดีที่สุด ใหญ่ที่สุด ถูกที่สุด (ที่มา http://www.takieng.com/stories/2943 )

          c. จากปัญหาข้อ a. และ b. เราสามารถดำเนินการติดตั้งระบบออนกริด โดยใช้ Grid Tire Inverter ยี่ห้อ SolarEdge ติดตั้งไปก่อนได้เลย ซึ่งก็จะเริ่มประหยัดค่าไฟฟ้าได้ทันที แล้วเมื่ออุปกรณ์ StorEdge มีจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว และเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ มีความเสถียรภาพ อายุการใช้งานยาวนานขึ้น และราคาถูกลง แล้วค่อยมาเพิ่มเติมอุปกรณ์ StoreEdge และแบตเตอรี่ เพื่อให้เป็นระบบไฮบริดส์ ที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และรูปด้านล่างนี้ก็เป็นไดอะแกรม การเชื่อมต่อระบบไฮบริดส์ ของยี่ห้อ SolarEdge

     

     วิธีที่3. ตามข่าวจากกระทรวงพลังงาน มีแนวโน้มว่าจะนำเสนอรัฐบาลให้รับซื้อคืนไฟฟ้า ( ที่มา http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/652 ) ซึ่งหมายความว่าหากเราติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ เพื่อใช้ไฟตอนกลางวัน หากเหลือจากการใช้งานของเราตอนกลางวัน แล้วใหลย้อนกลับเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ แล้วการไฟฟ้าก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าคืนให้กับเรา โดยเราก็จะได้ประโยชน์ในส่วนนี้ ( ต่างประเทศเรียก Net Metring ก็มีใช้กันในหลายประเทศแล้ว ) ดังนั้นหากเป็นไปตามนี้เราก็ไม่ต้องลงทุนติดตั้งระบบไฮบริดส์ ให้เปลืองเงินลงทุน เพราะเราจะได้เอาค่าไฟฟ้าที่ผลิตเหลือในตอนกลางวัน มาชดเชยในการใช้ไฟฟ้าของเราในตอนกลางคืน