fbpx

มีคำถามเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกแล้ว ครับท่าน ว่า

ทำไมติดตั้ง แผงโซล่าเซลล์รวมขนาด 35.75 kWp. โดยใช้อินเวอร์เตอร์ Huawei ขนาด 30kW. แล้วพอตอนเที่ยง ดูมอนิเตอร์ กำลังการผลิต ได้แค่ 20 kW.แค่นั้นเอง ความจริงน่าจะได้สัก 28 kW. หรือ 80% ดิ๊ ทำไมๆๆๆ?

ม๊ะ ตามมา เดี๊ยว Uncle Hub จะเล่าใหฟัง...🤓

1.ต้องเข้าใจก่อนว่า แผงโซล่าเซลล์ ผลิตไฟฟ้าได้มาจากความเข้มแสงอาทิตย์ มิใช่ ความร้อนจากแสงอาทิตย์

2.ความเข้มแสงอาทิตย์ มีการวัดค่าได้ โดยมีหน่วย เป็น วัตต์ต่อตารางเมตร W/ตรม. : W/m² ซึ่งความเข้มแสงเยอะ ก็จะผลิตพลังงานไฟฟ้า ได้เยอะตามไปด้วย
เช่น ในฤดูร้อน
>>> ตอน 7โมงเช้า มีความเข้มแสง 200 W/m²
>>> 9โมงเช้า มีความเข้มแสง 400 W/m²
>>> 11โมงเช้า มีความเข้มแสง 700 W/m²
>>> เที่ยง มีความเข้มแสง 950 W/m²  >>> เดือนมีนาคม หรือ เมษายน บางวัน ตอนเที่ยงครึ่ง ก็เคยวัดได้สูงถึง 1,150 W/m²
>>> บ่ายโมง มีความเข้มแสง 1050 W/m²
>>> บ่าย2 มีความเข้มแสง 800 W/m²
>>> 4โมงเย็น มีความเข้มแสง 500 W/m²
>>> 6 โมงเย็นมีความเข้มแสง 100 W/m²
>>> 1ทุ่ม มีความเข้มแสง 0 W/m²
* ซึ่งในฤดูฝน ฤดูหนาว ความเข้มแสง ก็จะน้อย ลดหลั่นกันไป เหมือนกับในวันนี้ มีความเข้มแสงตอนเที่ยงครึ่ง ประมาณ 800 W/m²

 

3.แผงโซล่าเซลล์ ที่มีขายในท้องตลาด ทั่วๆไปนี้ ก็จะมีมาตรฐานการทดสอบและวัดค่า ที่เรียกว่า Standard Test Conditions >> STC ของค่ายอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ใช้ STC นี่แหละสำหรับอ้างอิง โดยหลักๆ ก็จะนำแผงโซล่าเซลล์ บังคับให้ได้รับแสงความเข้ม (Irradiance) 1,000 W/m² ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส แล้วทำการวัด ว่ามีค่ากำลังไฟฟ้าออกมาว่า เท่าใด เช่น 445 w , 450w ,550w .. เป็นต้น 

 *** แต่อีกค่ายยุโรป บอกอย่าให้น้อยหน่า เอ๊ย..น้อยหน้า เรามาสร้างมั่งดีฝ่า เรียกว่า NOCT : Nominal Operating Cell Temperature คือการทดสอบและวัดค่าที่ความเข้มแสง 800 w/m² อุณหภูมิปกติ 20 องศาเซลเซียส ความเร็วลม 1 เมตร/วินาที และ ติดตั้งเมาท์ติ้งแบบเปิดโล่ง ***

ดังนั้น แผง 550 W จะผลิตกำลังไฟฟ้าออกมา 550 W จะต้องมีความเข้มแสง 1,000  W/m² มาตกกระทบ จึงจะได้ 550 w. นะจ๊ะ
ซึ่งวันนี้ ตอนเที่ยงครึ่ง มีความเข้มแสง 800 W/m² ก็จะได้ กำลังไฟฟ้า ประมาณ 440 w เท่านั้น นะจ๊ะ

4.ปัจจัยที่ต้องทราบอีกอย่างคือ แผงโซล่าเซลล์ ที่ผลิตมาจากผลึกซิลิคอน Crystalline Silicon นี้ เมื่อผลิตเป็นแผง ออกมาแล้ว ในปีแรก จะทำปฏิกิริยากับบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม มีผลให้ ปีแรก ประสิทธิภาพลดลง ประมาณ 2.5% และปีต่อๆไป จะลดลงปีละประมาณ 0.5 - 0.8% ขึ้นกับแต่ละยี่ห้อของแผง
ซึ่งจากข้อ 4 แผง 550 W ความเข้มแสง 800 W/m² ทำให้กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้เหลือประมาณ 440 w แล้ว ปีแรกลดลงไปอีก 2.5% ประมาณ 10 w ก็จะเหลือ ประมาณ 430 w

5.จากที่กล่าวไปใน ข้อ2 กระแสไฟฟ้า เกิดจากความเข้มแสง
แผงโซล่าเซลล์ ชอบความเข้มแสงสูง แต่ ถ้าอุณหภูมิสูงด้วย แผงก็ไม่ค่อยชอบ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตกำลังไฟฟ้า ลดต่ำลง
ซึ่งก็หมายความว่า แผงโซล่าเซลล์ ชอบความเข้มแสงมากๆ แต่อุณหภูมิแวดล้อม หรือใต้แผงต้องต่ำ ซึ่งก็จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า สูงขึ้น ตัวอย่าง เช่น ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า จะสูงที่สุด ในการติดตั้งแบบต่างๆ  ถ้าเรียงจากประสิทธิภาพการผลิต จากสูง ไปหา น้อย ก็ตามนี้นะ

     >>> ติดแบบทุ่นลอยน้ำ >>> ติดบนพื้นหรือกราวด์ เมาท์ติ้งหรือโซล่าฟาร์ม หรือบนดาดฟ้ายกสูง >>> บนหลังคา หรือ Solar Roof 

 

 

6.ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่ลดทอนกำลังไฟฟ้าที่ผลิตจากโซล่าเซลล์ คือ ทิศทางการรับแสงแดด ในเมืองไทยของเรา การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดคือ หันแผงไปทางทิศใต้ และทำมุม 15องศา ดังนั้นหากท่านติดตั้งแผงแล้ว หันไปทางทิศอื่น ประสิทธิภาพการผลิตฯ ก็จะลดทอนลงไป แต่จะมากน้อยขนาดไหน ทางเราเองก็ไม่ได้ทดสอบ แบบนักวิชาการ นะจ๊ะ จะถามว่าเป็นค่าเท่าใด นั้นบอกบ่ได้เด้อ แต่ที่กะดูคร่าวๆ หากติดตั้งไปทางทิศใต้ อาจจะมากกว่าทางทิศอื่นๆ  5 - 15 % >>> ทั้งนี้อย่าเอาข้อมูลนี้ไปอ้างอิง เน้อ เพราะมันมีปัจจัยอย่างอื่นประกอบอีกหลายอย่าง เช่น ใช้แผงยี่ห้อ? , อินเวอร์เตอร์ยี่ห้อ? , DC to AC Ratio? , การจัดสตริงกรุ๊ป เป็นต้น

7.การจัดกรุ๊ปสตริง ที่เหมาะสมและถูกต้องหรือไม่?  >>> เนื่องจากการต่อแผงโซล่าเซลล์ อนุกรมกัน นั้น ถ้าต่ออนุกรมในสตริงเดียวกัน จะต้องอยู่ในทิศรับแสงเดียวกัน ซึ่งหากท่านต่ออนุกรมกัน แต่ไปติดตั้งคนละฝั่ง ก็จะทำให้ทั้ง 2 ฝั่งรับแสงไม่เท่ากัน ช่วงเวลาหนึ่ง ที่รับความเข้มแสงมากกว่าอีกฝั่ง กำลังไฟฟ้า DC แทนที่จะไหลไปหาอินเวอร์เตอร์ เพื่อแปลงเป็นไฟ AC จ่ายไปยังโหลด แต่กลับต้องไปจ่ายไฟให้กับ แผงอีกฝั่งหนึ่งที่รับความเข้มแสงน้อย เป็นต้น

 

สรุปว่าค่ากำลังไฟฟ้าที่ได้ ก็จะมีการลดทอนไป ตามปัจจัย แต่ละข้อ ข้างต้น ซึ่งบางอย่างเราก็ระบุได้ยากว่าแต่ละแห่งเมื่อติดตั้งแล้ว จะได้กำลังไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเท่าใด แต่ก็ขอยกตัวอย่าง ที่เคยติดตั้งมา ขนาด 118.235 kWp.  โดยใช้ Huawei Inverter  100 kW. 1 Set และ แผงยี่ห้อ LONGI 535 W  221 Modules  ติดตั้งบนดาดฟ้า ยกสูงจากพื้นดาดฟ้า ประมาณ 1.5-2 ม. และหันไปทางทิศใต้ ทำมุม 15 องศา แล้วเมื่อประมาณ เดือน มีนาคม 2565 มีอยู่วันนึง ช่วงเที่ยงครึ่ง วัดความเข้มแสงได้ประมาณ 1,080 W/m² แล้วดูกำลังการผลิตของอินเวอร์เตร์ ได้ประมาณ 99.60 kW.  ดังนั้นท่านก็ลองนำข้อมูลนี้ไปเทียบเคียง กับการติดตั้งฯในไซท์ ของท่านดู

ทั้งนี้ หากติดตั้งบน หลังคาบนเมทัลชีท โดยที่หันไปทางทิศใต้  ค่ากำลังไฟฟ้าที่ได้ก็ต้องน้อยกว่านี้นะครับ เพราะช่วงระยะ ระหว่างแผง กับหลังคา ห่างกันน้อยมาก ไม่ถึง 10 ซ.ม. ดังนั้นการระบายอากาศ ก็สู้แบบติดตั้งบนดาดฟ้าไม่ได้

จบครับ

=============================================