ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้
ตอนนี้มาลงรายละเอียดระบบอินเวอร์เตอร์ หัวเว่ย โดยดูจากคู่มือนำเสนอของ Huawei แล้วเค้าตั้งชื่อว่า FusionSolar Residential Smart PV Solution. ซึ่งดูจากชื่อแล้วจะไม่ได้มีเฉพาะอินเวอร์เตอร์ อย่างเดียวแน่ๆ เพราะมีคำว่าโซลูชั่น แล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระบบโซล่าเซลล์ สำหรับบ้านพักอาศัย ทีนี้ก่อนที่จะเข้าเรื่องของ Huawei FusionSolar Residential Smart PV Solution. เราต้องมาทำความเข้าใจ เรื่องพื้นฐานก่อนที่จะเข้าเรื่อง Huawei Hybrid
ก่อนจะเข้าเรื่องต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก หัวเว่ย ประเทศไทย https://www.huawei.com/th/ และ บริษัท โพลีเทค จำกัด http://www.polytech.co.th/
1 รูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยโซล่าเซลล์ แบ่งตามการนำไปใช้งานเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.1 ระบบอ๊อฟกริด (Off Grid) หรือ แบบอิสระ ( Stand Alone ) : คือระบบที่ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ แล้วนำไปใช้งานเลยโดยไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับระบบจำหน่าย ของการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบบนี้เหมาะกับสถานที่ไม่มีไฟฟ้า หรือที่ไฟเข้าไม่ถึง ไม่คุ้มที่จะเดินลากสายไฟยาวๆเข้ามาใช้เนื่องจากต้นทุนสูง โดยระบบนี้ไม่ต้องขออนุญาตติดตั้งกับหน่วยงานภาครัฐ
1.2 ระบบออนกริด ( On Grid ) หรือ แบบเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ( Grid Connected ) : เป็นระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ แล้วเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้ ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยอุปกรณ์ Inverter แล้วไปเชื่อมต่อเข้ากับระบบจำหน่ายไฟของ การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดย นำไฟฟ้าที่ได้มาใช้งานเองเพื่อลดค่าไฟฟ้า
โดยหลักการคืออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านหรือโรงงานของเราจะดึงกระแสไฟฟ้าจากระบบโซล่าเซลล์มาใช้งานก่อน หากไม่พอกับการใช้งาน จึงไปดึงกระแสไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้าฯ มาใช้งานทดแทน
*ต้องเน้นเลยว่า พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ จะรวมหรือผสมกับไฟฟ้า จากกริดของการไฟฟ้าฯ เปรียบเสมือนมีถังน้ำ 2ถัง( ถังโซล่าเซลล์สูงกว่า ถังการไฟฟ้า นิดนึง) มีท่อน้ำเชื่อมถึงกัน โหลดจะดึงกำลังไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ก่อน ถ้าไม่พอก็จะดึงไฟจากกริดการไฟฟ้าฯ มาสมทบ มิได้เป็นการสวิทช์ สลับไป-มาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าจะพังเพราะไฟจากโซล่าเซลล์ไม่พอ หรือสูงเกินไป
และระบบออนกริดนี้ ต้องขออนุญาตติดตั้งและขอเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายฯจากการไฟฟ้าฯ โดยอินเวอร์เตอร์ที่นำมาใช้งานจะเรียกว่า กริดไทร์ อินเวอร์เตอร์ (Grid Tie Inverter) ซึ่งแต่ละรุ่นที่นำมาใช้งานจะต้องผ่านทดสอบจากการไฟฟ้าฯก่อน
1.3 ระบบไฮบริด ( Hybrid ) หรือแบบผสม : เป็นระบบที่นำเอา ระบบออนกริด และ อ็อฟกริด มารวมกันคือจะมีระบบแบตเตอรี่ มาสำรองพลังงาน ใช้งานในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ และสำหรับกรณีที่เมื่อมีแสงอาทิตย์แล้วผลิตกระแสไฟฟ้าได้หากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากกว่าที่นำมาใช้งาน ระบบก็นำกระแสไฟฟ้านั้นชาร์จเข้าแบตเตอรี่ เพื่อนำมาใช้งานได้ต่อไป พอถึงเวลากลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ไม่ได้ ระบบก็จะไปนำเอากระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ก่อน ( กรณีนี้ขึ้นอยู่การตั้งค่าให้เหมาะสม กับพฤติกรรม การใช้งานของผู้ใช้งานแต่ละราย ) หากยังไม่เพียงพอ ระบบก็จะไปดึงไฟฟ้ามาจากระบบจำหน่ายมาใช้งานชดเชยอีกทีหนึ่ง
2.Huawei FusionSolar Residential Smart PV Solution.
โซลูชั่น สำหรับบ้านพักอาศัย ของหัวเว่ย ตามรูปด้านล่าง จะมองเห็นว่าทางหัวเว่ย ได้ทำการพัฒนาอุปกรณ์ หลายๆตัว ในระบบ เพื่อจะได้บูรณาการระบบ ให้เหมาะสมกับบ้านพักอาศัยได้อย่างเหมาะสมและลงตัว
ซึ่งจะขอกล่าวถึงอุปกรณ์หลักๆ ของหัวเว่ย ดังนี้
2.1 Huawei Smart Solar Inverter ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรง ( DC ) จากแผงโซล่าเซลล์ ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ( AC ) เพื่อนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยจะแบ่งเป็นการไปใช้งาน 2 ระบบ ประกอบด้วย
2.1.1 สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 1 เฟส ซึ่งก็จะมีขนาด (แสดงเฉพาะที่มีจำหน่ายในเมืองไทย) 3/5 kW. ซึ่งใช้ชื่อรุ่นว่า SUN2000-3/5KTL-L1 *จำง่ายๆ ตัว L ต่อท้ายสำหรับ 1 เฟส
2.1.2 สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส ซึ่งก็จะมีขนาด (แสดงเฉพาะที่มีจำหน่ายในเมืองไทย) 5/10 kW. ซึ่งใช้ชื่อรุ่นว่า SUN2000-5/10KTL-M1 *จำง่ายๆ ตัว M ต่อท้ายสำหรับ 3 เฟส ซึ่งต่อๆมาจะมี M2 , M3...
ทั้งนี้อินเวอร์เตอร์ของ Huawei จะไม่มีรุ่นที่เป็น Inverter Hybrid เพราะของหัวเว่ย ก็จะนำอินเวอร์เตอร์ ออนกริด ที่เราใช้งานทั่วไปนี่แหละ นำมาต่อแบตเตอรี่เพิ่มเติม แล้วก็จะกลายเป็นระบบไฮบริดแล้ว แต่มีข้อแม้ว่าอินเวอร์เตอร์ ออนกริด อย่างน้อยต้องเป็นรุ่น L1 , M1 , M2 , M3 จึงจะนำแบตเตอรี่มาต่อใช้งานได้ (รุ่น L0 และ M0 นำมาต่อแบตเตอรี่ ไม่ได้)
ตอนต่อไป EP2 เรามาดูรายละเอียดของ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นๆของหัวเว่ย กัน โปรดติดตาม >>> Huawei Hybrid Solution หัวเว่ย ไฮบริด โซลูชั่น EP2