ว่าด้วยเรื่องการขออนุญาตฯ จากหน่วยงานภาครัฐ กรณีติดตั้งโซล่าเซลล์ แบบออนกริด ที่บ้านพักอาศัย ได้เคยเขียนบทความไว้แล้วว่ามีระเบียบ จากหน่วยงานราชการ ที่ต้องขออนุญาตติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ แบบออนกริด แต่ก็ยังไม่ได้สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ในทางปฏิบัติ ว่าต้องทำอะไรบ้างอย่างละเอียด
วันนี้ก็ได้ฤกษ์งามยามดี ในการกลั่น จากประสบการณ์การขออนุญาตติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ว่าต้องขี่ช้าง ลงเรือ ไปเหนือ ล่องใต้ เดินเท้าเปล่า ขึ้นเขา ลงห้วย ขี่หลังจระเข้ รอนแรม กลางเต๊นท์นอนกลางป่า รอใบอนุญาต กว่าจะได้มา อ๊ะล้อเล่น!!! ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ใกล้เคียง ^L^'
อ๊ะ..ขยับเข้ามาใกล้ๆ จะเล่าให้ฟัง!!!
>>>หมายเหตุ ข้อมูลที่กล่าวนี้ เป็นข้อมูลที่อัพเดท ก่อนเดือน เม.ย.63 ที่ทีมงานโซล่าฮับมาเล่าประสบการณ์ การขออนุญาตฯ (Fact โลกของความเป็นจริง) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ สำหรับท่านที่กำลังจะติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งกระบวนการฯ ต่างๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ไปจากนี้ เพราะหน่วยงานภาครัฐ ก็รับทราบปัญหา ความยุ่งยากในการขออนุญาตฯ ดังกล่าว <<<
1.การติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อใช้งาน หลักๆ มี 3 แบบ คือ
1.1 แบบอ๊อฟกริด หรือ สแตนอโลน หรือแบบไม่ต้องเชื่อมต่อ กับไฟ ของการไฟฟ้าฯ เลย >>> ระบบนี้ไม่ต้องขออนุญาตกับการไฟฟ้าฯ หรือกับหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ระบบนี้ต้องใช้แบตเตอรี่ สำหรับเก็บไฟ ไว้ใช้ตอนกลางคืน แต่บอกเลยว่าระบบนี้ ติดแล้วยังไม่คุ้ม เพราะแบตเตอรี่ยังแพงอยู่ และมีค่าบำรุงรักษาสูง ถ้าที่บ้านมีไฟ ของการไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่แนะนำ เพราะมีเรื่องจุกจิก ในการดูแล บำรุงรักษา เยอะแยะ มากมาย ก่ายกอง แถมค่าลงทุนแพงอีกต่างหาก แต่ถ้าท่านเป็นช่าง ชอบ DIY ก็อีกเรื่อง คือลอง ทำโน่น นี่ นั่น โมเอง ซื้อเอง ซ่อมเอง อันนี้ก็สุดแท้แต่
#อันนี้ ไม่แน่ใจ ว่าถ้าติดแบบขนาดใหญ่แบบมโหฬาร บานบุรี มากกว่า 200 kW. อาจต้องขออนุญาตกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (พพ.) หรือป่าว ? อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะมีระเบียบเรื่องแหล่งพลังงานควบคุม ที่เกิน 200 kW. ต้องขอใบอนุญาต พค.2
#อีกอันหนึ่ง ถ้า อบต. หรือ เทศบาล หรือสำนักงานเขต มาพบเจอว่ามีการติดแผงฯ บนหลังคา ถือว่าเป็นการปรับปรุงอาคาร ต้องขอใบอนุญาตฯ อ.1 อันนี้ก็ตัวใคร ตัวมัน ครับ ยังไม่รู้ว่ามีท่านใดเจอบ้างรึยัง?
1.2 แบบออนกริด หรือแบบเชื่อมขนานกับไฟของการไฟฟ้าฯ ที่ฮิตๆติดเพื่อประหยัดไฟกันทั่วบ้าน ทั่วเมืองนี่แหละ >>> แบบนี้ต้องขออนุญาต หน่วยงานราชการ
1.3 แบบไฮบริด แบบนี้คือผสม >>> อันนี้ระเบียบ ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่ถ้าถามการไฟฟ้าฯ ก็บอก ขอๆมาเหอะ ซึ่งระบบไฮบริด หมายถึงรับพลังงานมาจากแหล่งจ่าย มากกว่า 1 แหล่ง เช่น จากการไฟฟ้า กับแบตเตอรี่ , จากการไฟฟ้าฯ กับเจ็นเนอเรเตอร์ , จากการไฟฟ้า กับแบตเตอรี่ และกับเจ็นเนอเรเตอร์ , จากการไฟฟ้าฯ กับแบตเตอรี่ และกับกังหันลม เป็นต้น
2.แบบที่ติดบนหลังคาบ้านเรา (แบบข้อ1.2) ไม่ใช้แบตเตอรี่ คือแบบออนกริด สำหรับประหยัดค่าไฟฟ้า ที่ติดๆกันเนี่ย ต้องขออนุญาตฯ หน่วยงานใด เท่าไหร่ อะไร ยังไง ทำไม ที่ไหน เมื่อไหร่ จั๊งได๋ ?
2.1 อันดับแรก ต้องขออนุญาต หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเทศบาล หรือสำนักงานเขต เพื่อขออนุญาตปรับปรุงอาคารเพื่อติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ หรือแบบใบอนุญาต อ.1
*จริงๆ มีกฏกระทรวงมหาดไทย ปี2558 ลงวันที่ 1 ต.ค.2558 ที่ระบุว่า ติดแผงโซล่าเซลล์ บนหลังคาขนาดพื้นที่ไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 ก.ก.ต่อตารางเมตร มิให้ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร ซึ่งก็แสดงว่าไม่ต้องขอ แบบ อ.1 แต่มีขมวดท้ายไว้อีกว่า โดยต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฏหมาย สรุปว่า
>>> อบต. หรือสนง.เขต บางแห่ง แจ้งว่า ติดหลังคาบ้านไม่เกิน 160 ตรม. ไม่ต้องขอ อ.1 เพียงแต่ยื่นคำร้องแจ้งให้ทราบก่อน แต่ต้องมีแบบคำนวณ โครงสร้างให้วิศวกรโยธา เซ็นแบบมาด้วย สรุปแล้วเราก็ต้องเสียตังค์ ให้เขียนแบบ คำนวณโครงสร้าง และค่าเซ็นต์แบบ อยู่ดีแหล่ะ
>>> อบต. หรือสนง.เขต บางแห่ง แจ้งว่า ไม่เกี่ยว ที่นี่ ยังไงก็ต้องขอ อ.1 ดังนั้น ไม่ต้องห่วง ที่นี่ก็ต้องเขียนแบบ พร้อมคำนวณโครงสร้าง และเซ็นต์แบบ มาเต็มๆ แบบฯจะผ่าน หรือไม่ผ่าน ก็ต้องลุ้นเอาว่าต้องแก้ไข อย่างไรให้ถูก....
>>> อบต. หรือสนง.เขต บางแห่ง แจ้งว่า มีกฏกระทรวงมหาดไทย ปี2558 แล้ว ไปเขียนคำร้องแจ้งติดตั้งโซล่าเซลล์ ก็พอแล้ว ไม่ต้องส่งแบบหรอก อันนี้สิเด็ด แค่ขอถ่ายสำเนา เลขรับ ของ อบต.หรือ สนง.เขต มาแนบให้ กกพ.เขต
2.2 ยื่นขออนุญาตทางออนไลน์ ที่เว็บwww.erc.or.th (กกพ. : คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) โดยต้องแนบหลักฐานต่างๆ พร้อม ใบอนุญาต อ.1 ที่ได้มาจากอบต.หรือสนง.เขต แต่ถ้าไม่มีใบอ.1 ก็เป็นหนังสือคำร้องแจ้งติดตั้งโซล่าเซลล์ แทน ถ้าหลักฐาน ในการยื่นออนไลน์เบื้องต้นครบถ้วน ก็ต้องปริ๊นเป็นกระดาษ เดินทางไปยื่นที่ สำนักงาน กกพ.เขต
>>> การแจ้งติดตั้งโซล่าเซลล์ นี้ เค้าไม่ใช้คำว่าขออนุญาตฯ แต่เค้าใช้คำว่า แบบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต (ฟังแล้วงง..อิ๊บอ๊าย )
>>> การแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต สำหรับบ้านพักอาศัย ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kW.) ให้ติดต่อที่ สำนักงาน กกพ.เขต สามารถดูรายละเอียด ความรับผิดชอบแต่ละเขต ที่นี่ http://www.erc.or.th/OERCWEb/map.aspx
>>> เมื่อนำเอกสารต่างๆ ไปยื่นที่ กกพ.เขต หากมีใบ อ.1 ก็ครบถ้วน แต่หากว่ามีเฉพาะคำร้องแจ้งติดตั้งโซล่าเซลล์ และมีใบลงรับจาก อบต.หรือสนง.เขตแล้ว สำหรับ กกพ.เขต บางเขต แจ้งว่าต้องมีแบบพร้อมคำนวณโครงสร้าง และวิศวกรโยธาเซ็นต์แบบ มาแนบด้วย จึงจะอนุญาตฯให้ติดตั้ง '^L^ สรุปก็ต้องเสียตังค์ จ้างเค้าเขียนแบบ และเซ็นต์แบบ อยู่ดีแหล่ะ จบข่าว ^L^'
2.3 ยื่นขอขนานไฟ กับระบบไฟฟ้าของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งข้อนี้ ก็ต้องเขียนแบบ Single Line Diagram โดยมี ภาคีวิศวกรไฟฟ้า เซ็นต์แบบเป็นอย่างน้อย โดยเมื่อติดตั้งถูกต้อง เอกสารครบถ้วน แล้ว กฟน.หรือกฟภ. จะอนุญาตก็ต่อเมื่อ มีแบบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้ รับการยกเว้นไม่ ต้องขอรับใบอนุญาต จาก กกพ. แล้วเท่านั้น
*ข้อมูลและข้อกำหนดของหน่วยงานราชการ เงื่อนไขการอนุญาต ให้เชื่อมขนานไฟ กับระบบของการไฟฟ้าฯ ของกฟน. และ กฟภ. มีมากมาย หลากหลาย เงื่อนไข ขึ้นอยู่กับแต่ละเขต ที่เราไปยื่นขออนุญาต อาทิ เช่น
ข้อกำหนดการเชื่อมต่อ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ของ กฟน. พ.ศ.2559
ระเบียบ กฟภ.ว่าด้วยการข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า พ.ศ.2559
# กฟน. และ กฟภ. >>> บ้านพักอาศัย มิเตอร์ 1 เฟส สามารถติดแบบออนกริด ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์(kW.) และมิเตอร์ 3 เฟส สามารถติดได้ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kW.) โดยยึดถือกำลังไฟฟ้า DC หรือกำลังไฟฟ้ารวมของแผงโซล่าเซลล์ นั่นเอง
# กฟน. และ กฟภ. >>> อินเวอร์เตอร์ ที่ติดตั้ง ต้องผ่านการทดสอบ และขึ้นลิส ของ กฟน. และ กฟภ.
# กฟน. และ กฟภ. >>> ในหม้อแปลง1ลูก ติดตั้งโซล่าเซลล์ ได้ไม่เกิน 15% ของขนาดหม้อแปลง สำหรับส่วนที่เกิน 15% หากต้องการติดตั้งโซล่าเซลล์ ต้องติดตั้งระบบป้องกันการย้อน หรือ Zero Export
# กฟน. และ กฟภ. >>> แต่ก็มีบ้างที่บางเขตการไฟฟ้าฯ แจ้งว่าต้องติด Zero Export เลยโดยไม่ดูว่าเกิน 15% หรือไม่ ขึ้นชื่อว่าติดโซล่าเซลล์ ต้องติด Zero Export
# กฟน. มีระเบียบว่า ตัว Zero Export ก็ต้องผ่านการทดสอบ และขึ้นลิส ของกฟน. โดยต้องจับคู่กันกับอินเวอร์เตอร์ ที่ใช้งานด้วย (บางยี่ห้อบอก ไม่ส่งเทสหรอก เพราะกว่าจะผ่านทดสอบ แล้วนำมาขาย ก็ตกรุ่นซะแล้ว เทคโนโลยี่ มันไปไวมาก)
# กฟภ. บางเขต แจ้งว่าต้องติด Zero Export แต่ไม่บังคับว่าต้องติดรุ่นใด เพราะไม่มีการขึ้นลิส Zero Export
# กฟภ. บางเขต แจ้งว่า ไม่ต้องติด Zero Export แต่ต้องติดเบรคเกอร์แบบ RCBO (Residual Current Circuit Breaker with Over Current Protection) ป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด ป้องกันกระแสเกิน(Overload) และกระแสลัดวงจร(Short circuit)
# กฟน. บางเขต แจ้งว่าต้องติด Zero Export และ RCBO ด้วย
# กฟน. และ กฟภ.>>> เมื่อเอกสาร และติดตั้งถูกต้อง ครบถ้วน แล้ว ก็จะมีการเปลี่ยนมิเตอร์ เป็นแบบดิจิตอลมิเตอร์ (ที่ไม่หมุนย้อนกลับ)
# อื่นๆ อีกมากมาย...
* สรุป ถ้าจะติดตั้งที่เขตไหน ให้เขียนแบบ Single Line Diagram เบื้องต้น เดินเข้าไปปรึกษา หารือ กับ กฟน. หรือกฟภ. ในเขตนั้นๆก่อน การติดตั้ง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง หรือ......
>>>>> ท่านจะติดตั้งแบบโซล่ากองโจร หรือแอบกริด ก็สุดแล้วแต่........ตัวใคร ตัวมัน แล้วแต่ดวงแล้วกันครับ '^L^' <<<<<
*** ฝากทิ้งท้าย คงไม่มีใครอยากแหกกฏ ที่ทำให้ไม่สบายใจหรอกครับ แต่ช่วยทำให้กฏ มันง่ายในทางปฏิบัติหน่อยเถอะ และอย่าเหมารวมเรื่องความปลอดภัย มาทำให้เกิดความยุ่งยาก เพราะเราสามารถมีกฏที่ง่ายในทางปฏิบัติ และครอบคลุมความปลอดภัยได้ ***