fbpx

          สำหรับโรงงาน ออฟฟิศ สำนักงาน ที่สนใจติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ บนอาคาร สำนักงาน แต่ว่าอาคารไม่มีหลังคาเมทัลชีต หรือหลังคากระเบื้อง แต่เป็นดาดฟ้า ( บางท่านอาจเรียกว่า คอนกรีตสแลป ) ก็สามารถติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกพอสมควรสำหรับ Mounting อันเนื่องจาก ต้องใช้โครงสร้างเป็นเหล็กชุบกัลวาไนซ์ เพื่อรองรับและจับยึดแผงโซล่าเซลล์ กับพื้นคอนกรีตสแลป

 

          บทความนี้จะมากล่าวถึงเทคนิคการติดตั้ง Solar Mounting บนดาดฟ้า ว่ามันมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เบื้องต้นด้านล่างเอารูปนี้ไปดูก่อน ว่าสิ่งที่เราคิดว่า มันน่าจะง่ายเนอะ แต่ไหง มันไม่ง่ายดังคิดหล่ะ

          จากรูปนี้จะเห็นว่า เราออกแบบไว้ ให้ก้อนปูนมีขนาด 20x20 ซ.ม. และสูง 10 ซ.ม. แต่ไหงพอทำแล้ว ที่เสาหรือตอม่อแต่ละต้นทำไม ก้อนปูนมันไม่เท่ากันเลย ฝากให้คิดสัก 2-3 วัน ครับ แล้วค่อยมาเฉลย ?

เฉลย >>> เนื่องจากพื้นที่หน้างานจริง พื้นดาดฟ้าของอาคาร จะมีมุมลาดเอียง ที่ไม่ขนานกับพื้นโลกเพื่อป้องกันน้ำขังบนพื้นอาคาร (ซึ่งบางแห่งอาจยกให้ด้านหนึ่งสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง หรือบางแห่งอาจให้ตรงกลางนูนเป็นหลังเต่า เป็นต้น ) ดังนั้นหากเราติดตั้งโครงสร้าง Mounting ให้ขนานตามพื้นอาคารก็มีผลให้แผงโซล่าเซลล์ เราเอียงตามพื้นอาคารไปด้วย ดังนั้นเราต้องติดตั้งโดยต้องอ้างอิง ระดับให้ขนานกับพื้นโลก

        >>> อ้าว เฮ้ย! (ไม่เหมือนที่คุยกันไว้) แล้วจะอ้างอิงระดับพื้นโลกไงหล่ะ >>> ก็แค่ใช้สายยางวัดระดับน้ำ จับระดับน้ำแล้วมาร์คตำแหน่งที่ผนังกำแพงคอนกรีต ทั้ง 2 ฝั่งก่อนก็ได้ ซึ่งเราก็จะพบว่า ฝั่งด้านซ้าย และ ด้านขวา มี ระดับความสูงต่างกันเท่าใด (เพราะส่วนใหญ่ผนังกำแพง จะไม่เอียงเหมือนพื้นคอนกรีต แต่จะเป็นแนวตั้งฉากกับพื้นโลก ดังนั้นเราเลยอ้างอิงกับผนังกำแพงได้ครับ) จากนั้นก็ค่อยขึงเอ็น จากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง เราก็จะได้ตำแหน่งความสูงของ ก้อนปูนหรือตอม่อแต่ละต้น แล้วครับ

 

 

 

มาต่อกันเรื่องขั้นตอนการติดตั้งเมาท์ติ้ง จับยึดแผงโซล่าเซลล์ (Solar Mounting)

1.หลังจากที่เราได้ขึงเอ็น จากการอ้างอิงจากพื้นโลกแล้ว ก็กำหนดตำแหน่ง จุดเจาะพื้นคอนกรีตเพื่อยึดเหล็กสตัด ตามแบบที่กำหนดไว้ เมื่อกำหนดตำแหน่งแล้ว ทำการเจาะรู ที่พื้นคอนกรีต จำนวนตอม่อละ 2 รู ระยะห่าง 10 เซนติเมตร เพื่อใส่เหล็กเกลียวตลอดโดยใช้กาวซิเมนต์เป็นตัวประสาน

 

 

2.วางเหล็กซี (C Light Lip ) ขนาด 3 นิ้วบนเหล็ก เกลียวตลอด หรือเรียกว่าเหล็กสตัด โดยใช้น็อตขนาด 4 หุน เป็นตัวช่วยในการปรับระดับ เพื่อให้ได้ระดับกับพื้นโลก เพราะระดับพื้นดาดฟ้าจะมีมุมลาดเอียงเพื่อป้องกันน้ำขัง 

 

 

3.หลังจากที่เราขันน็อตปรับระดับของเหล็กซี ขนานกับพื้นโลกได้แล้ว เราก็สามารถทำแบบเพื่อหล่อตอม่อหรือก้อนปูนทับเหล็กสตัดได้เลย ในที่นี้เราหล่อปูนขนาด 20x20 ซ.ม. และความสูงของตอม่อ ก็ขึ้นอยู่กับระดับของเหล็กสตัดที่เราปรับ โดยปูนเราจะผสมน้ำยากันซึม เป็นตอม่อตรงบริเวณที่มีการ เจาะพื้นดาดฟ้าเพื่อป้องกันการรั่วซึมของพื้นดาดฟ้า

 

4.จับยึดขาตั้งหน้า-ขาตั้งหลัง ขนเหล็กซี พร้อมวางอุปกรณ์ จับยึดแผงโซล่าเซลล์ไว้บนขาตั้งหน้า-ขาตั้งหลัง โดยทำมุมเอียง 15 องศา

 

 

 

5 วางแผงโซล่าเซลล์ บนอุปกรณ์จับยึด ซึ่งจะมีอุปกรณ์จับยึดในแต่ละจุดที่เป็น ไปตามมาตรฐาน เช่น ตัวยึดกลางแผง,ตัวยึดท้ายแผง ฯลฯ และจัดเรียงเพื่อความเรียบร้อยสวยงามได้ตามมาตรฐาน

 

6.ติดตั้งรางวายเวย์สำหรับเดินสายดีซี และสายกราวด์ จากแผงโซล่าเซลล์ ไป ยังตู้ดีซี

 

 

 

7.ติดตั้งอุปกรณ์ อินเวอร์เตอร์, ตู้ดีซี และตู้เอซี พร้อมทำการเชื่อมต่อระบบ และต่อขนานระบบไฟฟ้าโซล่าเซลล์ เข้ากับระบบไฟฟ้าของอาคาร ที่ตู้ AC Board

 

แถมท้ายฝากรูปการติดตั้งโซล่าเซลล์ บนดาดฟ้าของอาคาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นครนายก