พอดีว่าช่วงนี้ (ธ.ค.67) เห็นข่าวที่แชร์กันเยอะทั้งในไลน์ และ facebook เกี่ยวกับเรื่องการติดตั้งโซล่าเซลล์ เกิน 1 MW. แล้วไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 ซึ่ง รมต.ก็ได้ลงนามในกฏกระทรวง เรื่องกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่3) พ.ศ.2567
ไอ้เราก็สงกะสัยว่า ที่ลงนามนี้แล้ว ในทางปฏิบัติแล้ว ยึดตามนี้เลยได้หรือไม่อย่างไร ก็เลยโทรสอบถามไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ก็ได้คำตอบมาว่า
จะต้องมีการประกาศจาก ราชกิจจานุเบกษา ก่อน แล้ว ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะแจ้งไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัด ให้นำไปปฏิบัติ จึงจะครบถ้วนกระบวนความ
***ไฟล์เอกสาร กฏหมาย คำสั่ง ประกาศ อนุมัติ จากส่วนงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีให้ดาวน์โหลด ที่ แหล่งรวมไฟล์ใบอนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ จากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง***
ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังอยู่แค่ขั้นตอนแรกที่ รมต. เห็นชอบในหลักการ ซึ่งมันมีรายละเอียด และวิธีการปฏิบัติอีกหลายอย่างที่ต้องมีความชัดเจนระดับผู้ปฏิบัติ โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะดำเนินการในรายละเอียดให้ชัดเจน อีกที ซึ่งทางโซล่าฮับ ลองโทรสอบถามกับ อุตสาหกรรมจังหวัด ได้รับคำตอบว่า ต้องรอทางกรมฯ แจ้งมาก่อนจึงจะนำไปปฏิบัติต่อไป (ตอนนี้ก็รอความชัดเจนอีกสักระยะนึง)
ทีนี้เลยจะมาขยายความ เรื่องการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ กับขอใบอนุญาตฯ รง.4 ว่ามันมีรายละเอียดอะไรกันบ้าง มาดูกัน
อัพเดท วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว
***ไฟล์เอกสาร กฏหมาย คำสั่ง ประกาศ อนุมัติ จากส่วนงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีให้ดาวน์โหลด ที่ แหล่งรวมไฟล์ใบอนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ จากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง***
ขอสรุปการขออนุญาตติดตั้ง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน : กกพ.
1.1 ติดตั้งโซล่าเซลล์ แบบออนกริด ทุกขนาดต้องขอใบอนุญาตฯ จาก กกพ.
1.2 ติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อใช้เอง ในโรงงาน ขนาด ไม่เกิน 1 MW. (โดยยึดถือจากขนาดอินเวอร์เตอร์) ถือว่าไม่ใช่โรงไฟฟ้าฯ โดย กกพ. จะออกใบรับแจ้งประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า
1.3 ติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อใช้เอง ในโรงงาน ขนาด ไม่เกิน 1 MW. (โดยยึดถือจากขนาดอินเวอร์เตอร์) จะยึดถือ นิติบุคคล จากผู้ยื่นขออนุญาต เป็นหลัก โดยก็จะถือเป็นการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงพลังงานของเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ที่โรงงานได้ผลิตโปรดักส์ นั้นๆ ไม่ต้องขออนาต รง.4
1.4 ติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อใช้เองในโรงงาน ขนาด ตั้งแต่ 1 MW. (โดยยึดถือจากขนาดอินเวอร์เตอร์) จะยึดถือว่าเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องขอใบ รง.4 จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม / อุตสาหกรรมจังหวัด
1.5 ติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อขายไฟ (PPA) ขนาด ไม่เกิน 1 MW (โดยยึดถือจากขนาดอินเวอร์เตอร์) จะถือว่าเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า โดย นิติบุคคลผู้ลงทุน เป็นผู้ขออนุญาตใบ รง.4 (ประเภทโรงงานลำดับที่ 88 โรงไฟฟ้า ) ต้องได้รับใบ รง.4 จาก อุตสาหกรรมจังหวัดก่อน แล้ว กกพ. จึงจะออกใบอนุญาตฯให้
(ขนาดต่ำกว่า 10 MW. ทำเพียง ESA : Environmental Safety Assessment แต่ถ้าขนาดเกิน 10 MW.ขึ้นไป ต้องทำ EIA : Environmental Impact Assessment )
1.6 ติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อขายไฟ (PPA) ขนาดตั้งแต่ 1 MW (โดยยึดถือจากขนาดอินเวอร์เตอร์) จะถือว่าเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า โดย นิติบุคคลผู้ลงทุน เป็นผู้ขออนุญาตใบ รง.4 (ประเภทโรงงานลำดับที่ 88 โรงไฟฟ้า ต้องได้รับใบ รง.4 จาก อุตสาหกรรมจังหวัดก่อน แล้ว กกพ. จึงจะออกใบอนุญาตฯให้
1.7 การขออนุญาต จะยึดถือ จากนิติบุคคล ผู้ขออนุญาต เป็นหลัก
2.กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
2.1 ติดตั้งโซล่าเซลล์ ขนาดตั้งแต่ 200 kW. (โดยยึดถือจากขนาดอินเวอร์เตอร์) ต้องขอใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม พค.2
2.2 พพ. จะออกใบอนุญาต พค.2 โดยยึดมาตรฐานการติดตั้ง จาก วสท. ปี 2565 สาระสำคัญคือขนาดตั้งแต่ 200 kW. ต้องติด Rapid Shutdown และมี AFCI
3.กรมโรงงานอุตสาหกรรม
3.1 ปกติตั้งโรงงาน ก็จะมีใบ รง.4 สำหรับประกอบกิจการต่างๆ อยู่แล้ว เช่น ผลิตเครื่องดื่ม ,ผลิตชิ้นส่วน.... ก็จะดูประเภทได้จาก กฎกระทรวง กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ.๒๕๖๓ โดยผู้ที่จะทำขายไฟ PPA ผู้ลงทุนก็ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า (ประเภทโรงงานลำดับที่ 88 โรงไฟฟ้า ) กับ อุตสาหกรรมจังหวัด
3.2 ติดตั้งโซล่าเซลล์ ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ติดเพื่อใช้เอง) ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานเดิม “มาตรา ๑๘/๑ การขยายโรงงานตามมาตรา ๑๘ เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต
*ซึ่งไม่ได้กำหนดขนาดการติดตั้งว่าขนาดเท่าใด โดยก็ทำการยื่นเอกสารต่างๆ ตามแบบฟอร์ม แบบการแจ้งและหนังสือรับแจ้งการขยายโรงงานจำพวกที่ ๓ ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต พ.ศ.2564
3.3 การขออนุญาตฯคิดแรงม้าจากขนาดอินเวอร์เตอร์ แต่กรณีที่คิดค่าใช้จ่ายในการขยาย เพิ่มเครื่องจักร จะคิดจาก แรงม้าเดิม+แรงม้าอินเวอร์เตอร์+แรงม้าPV
3.4 กรณีติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อใช้เอง ทางโรงงาน จะต้องทำการแจ้งอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อแจ้งขยายโรงงาน ตามกฏหมายจาก พรบ.โรงงาน ปี 2535 มาตรา 18 และหรือแจ้งเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร ตามมาตรา 19
*ในทางปฏิบัติ อาจไม่ค่อยได้แจ้งขอเพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร เนื่องจากไม่ทราบ แต่หาก อุตสาหกรรมจังหวัดตรวจสอบพบว่ามีการติดตั้งโซล่าเซลล์ เพิ่มเติม ก็จะแจ้งให้ทางโรงงานทำการแจ้งเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร แล้วชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
** กรณีที่มีประกาศ ติดตั้งโซล่าเซลล์ เกิน 1 MW. แล้วไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 จะต้องยื่นขยายหรือเปลี่ยนแปลง หรือไม่ ซึ่งสอบถามทางอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว แจ้งว่าต้องรอความชัดเจนจากทางกรมโรงงานอุสาหกรรม แจ้งวิธีปฏิบัติ ที่ชัดเจนมาก่อน
3.5 การติดตั้งโซล่าเซลล์แบบตั้งพื้น หรือแบบกราวด์เมาท์ติ้ง (ส่วนใหญ่เราชอบเรียกว่า โซล่าฟาร์ม) และ ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) ต้องขอใบอนุญาต รง.4
4.องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น
4.1 การติดตั้งโซล่าเซลล์ บนหลังคา เข้าข่ายการก่อสร้าง ตาม พรบ.อาคารปี 2522 ดังนั้นจึง ต้องขออนุญาตปรับปรุงอาคาร อ.1 กับทาง อปท. ซึ่งก็ต้องนำใบอนุญาต แนบให้กับ กกพ. เพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาต
4.2 มีระเบียบข้อยกเว้น ของกระทรวงมหาดไทย ว่าหากติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 160 ตร.ม. ก็ไม่ถือว่าเป็นการปรับปรุงอาคารแต่ต้องมีผลการ ตรวจสอบ ความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมาย และทำหนังสือแจ้งการติดตั้งโซล่าเซลล์ ให้กับ อบต. , เทศบาล ด้วย (ซึ่งก็คล้ายกับการขออนุญาต อ.1 เช่นกัน )
5. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) : MEA และหรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) : PEA >>> ต้องขออนุญาตขอเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า
5.1 อินเวอร์เตอร์ ต้องผ่านการทดสอบ/รับรอง จาก MEA / PEA
5.2 สำหรับอาคารหรือโรงงาน (เชื่อมต่อไฟฟ้า MEA=12kv/24kv, PEA=22kv/33kv ) >> หรืออาคารที่มีการติดตั้งหม้อแปลงของตนเองต้องติดตั้ง Protection Relay / อนุโลมไม่ต้องติดRelay แต่ต้องติดอุปกรณ์ป้องกันอย่างอื่นแทน
5.3 PEA ต้องติด PQ Meter หากติดตั้ง ขนาดอินเวอร์เตอร์ ตั้งแต่ 250 KW.
5.4 MEA ต้องติด PQ Meter หากติดตั้ง ขนาดอินเวอร์เตอร์ ตั้งแต่ 1 MW.
*เนื่องจาก MEA และ PEA มีกฏระเบียบ ในการขอเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าค่อนข้างเยอะมาก ซึ่งได้เขียนรายละเอียดแล้ว สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ ข้อมูลและข้อกำหนดของหน่วยงานราชการ