fbpx

ไม่รู้เป็นไง ช่วงนี้ทีมงานโซล่าฮับ ได้รับโทรศัพท์จากมิตรรักแฟนเพลง ที่สนใจติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ สอบถามเข้ามามากมาย ทั้งติดตั้งใช้เองที่บ้าน , ติดเพื่อขายไฟที่บ้าน , ติดใช้เองที่โรงงาน , ติดขายไฟที่อ๊อฟฟิส ... ซึ่งก็จะมีคำถามที่หลากหลายตามปัจจัย และสิ่งแวดล้อมของแต่ละท่าน อย่ากระนั้นเลย จึงขอรวบรวมคำถามจากการที่ได้พูดคุย มาตอบรวมๆ ที่บทความนี้ก็แล้วกัน

1. Q.>>>ติดโซล่าเซลล์ แบบใช้กลางคืนด้วยได้ป่าว เอาแบตเตอรี่ด้วยได้ป่าว?

     A.>>> โซล่าเซลล์ ที่ติดกันทั่วบ้าน ทั่วเมืองตอนนี้เป็นแบบออนกริด ขนานไฟ กับระบบของการไฟฟ้าฯ ดังนั้นจึงไม่มีแบตเตอรี่ ใช้ไฟจากโซล่าเซลล์ เฉพาะกลางวัน ถ้าไฟจากโซล่าเซลล์ ไม่พอ หรือตอนกลางคืน ระบบฯก็จะไปดึงไฟจากการไฟฟ้า มาอัตโนมัติ 

       >>> แต่ถ้าจะใส่แบตเตอรี่ เผื่อใช้ตอนกลางคืนด้วย ตอนนี้อยากขอร้อง... ดังๆ... เลยว่ายังไม่คุ้ม เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเธียม ยังแพงมาก ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่อีก 3-4ปีข้างหน้า เมื่อราคาลดลงมาแล้วก็ค่อยมาว่ากันอีกที

        * ราคาแบตเตอรี่ ของ TESLA ที่ใช้ชื่อว่า POWER WALL ขนาด 10 KWH. ราคาประมาณ 112,000 บาท  ยังไม่รวมภาษีแบตเตอรี่อีก 60% และค่าติดตั้ง , ค่าอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบฯอื่นๆอีก ตอนนี้ขอบอกเลยว่าไม่คุ้ม >>> แต่ท่านใดจะติดเพื่อความเท่ห์ หรือจะทำเพื่อ PR โดยไม่ได้คำนึงถึงจุดคุ้มทุน นั่นก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่งเด้ออ้าย! 

        * สำหรับ Huawei ก็เตรียมออกแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ใช้ชื่อว่า LUNA ที่ได้รับแจ้งจากดีสตริบิวเตอร์ว่า จะออกขายภายในปีนี้ ที่จะนำมาใช้ร่วมกับ อินเวอร์เตอร์ Huawei รุ่น L1 (1เฟส) และ M1 (3เฟส) แต่ยังไม่ทราบราคา แต่ก็คงหลักแสนบาทขึ้นไปอยู่แล้วครับ

        * และต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมด้วยว่า การนำแบตเตอรี่ มาต่อร่วมกับอินเวอร์เตอร์ แล้ว ช่วงแรกๆ อาจจะไม่สามารถนำมาทดแทนไฟ จากการไฟฟ้าได้ทั้งหมด เพราะยังมีข้อจำกัดทางด้านเทคนิคอีกหลายประการ ที่ยังอาจจะต้องพึ่งพาไฟของการไฟฟ้าฯ อยู่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแต่ละบ้าน อันนั้นค่อยมาว่ากัน ในอนาคตอันใกล้นี้ (หยอดให้อยาก แล้วจากไป...)

  

https://www.tesla.com/powerwall    https://solar.huawei.com 

 

 2. Q.>>> ที่บ้านติดโซล่าเซลล์เพื่อขายไฟได้ป่าว แล้วติดได้ขนาดเท่าใด ราคาขายเท่าใด ระยะเวลานานเท่าใด?

      A.>>> ตามที่ กพช. อนุมัติมาล่าสุด 1 มกราคม 2564

             - ขายไฟฟ้าได้ 2.2 บาท/หน่วย ระยะเวลา 10 ปี ของเดิมที่เคยได้ 1.68 บาท/หน่วย ก็จะเพิ่มให้เป็น 2.2 บาท/หน่วย ส่วนจะเพิ่มอะไร ยังไง เมื่อไหร่ คงต้องรอ กกพ. ออกระเบียบ วิธ๊ปฏิบัติมารองรับ ถามโซล่าฮับ ก็ตอบไม่ได้ครับ เพราะไม่ใช่คนอนุมัติ แค่อ่านข่าวมา แล้วมาสรุปให้อ่านครับ 

             - โดยบ้านที่ใช้ไฟ 1 เฟส ขายไฟได้ไม่เกิน 5 KW.  และ บ้านที่ใช้ไฟ 3 เฟส ขายไฟได้ ไม่เกิน 10 KW.  โดยกำลังการผลิตให้ดูที่ขนาดรวมของแผงโซล่าเซลล์ (ไม่ได้ดูที่ขนาดอินเวอร์เตอร์ อย่าสับสน )

ขอบคุณที่มา https://www.energynewscenter.com

 

3. Q.>>> ติดโซล่าเซลล์ขายไฟ ที่ราคา 2.2 บาท/หน่วย  ระยะเวลา 10 ปี จะคุ้มไม๊เนี่ย?

    A.>>> ถ้าคิดว่าจะติดเพื่อขายไฟอย่างเดียวเลย โดยไม่ใช้เอง ได้ 2.2 บาท/หน่วย ผมไม่เฉลยว่า คุ้มหรือไม่คุ้ม ให้ลองไปคิดดูกันเอง

           - จากการเก็บสถิติของ โซล่าฮับเองประมาณ 3 ปี มานี้ แดดในเมืองไทย ติดตั้งขนาด 1 KW ผลิตไฟได้ประมาณ 4 หน่วย/วัน ดังนั้น ติดตั้ง 5 KW. ก็จะผลิตได้ประมาณ 20 หน่วย/วัน (หน้าร้อนบางช่วง 1 KW. อาจได้ 6หน่วย/วัน , หน้าฝนบางวันอาจได้ 3หน่วย/วัน ก็ถัวๆเฉลี่ยกันไป)

           - สรุปติด  5 KW. ผลิตได้ 20 หน่วย/วัน , 600 หน่วย/เดือน , 7,300 หน่วย/ปี  >> ถ้าได้ 2.2. บาท/หน่วย ก็จะได้เงิน 16,060 บาท/ปี

          - แต่ธรรมชาติของแผงโซล่าเซลล์ ทุกๆปี ประสิทธิภาพ จะลดลงปีละ 0.8% ตลอดระยะสัญญา 10 ปี ก็จะได้พลังงานไฟฟ้า ประมาณ 70,000 หน่วย หรือตลอด 10 ปีจะได้เงินประมาณ 154,000 บาท

            - พี่โน่ เป็นช่างไฟ ซื้ออุปกรณ์โซล่าเซลล์ ทุกสิ่ง ทุกอย่าง เลือกใช้ของดี มียี่ห้อเชื่อถือได้ มาติดตั้งเอง ไม่เสียค่าจ้างช่างเลยจั๊กบาท สำหรับ 5 KW. ทำเองทุกอย่าง เบ็ดเสร็จ เสียค่าของ 125,000 ขายไฟ  โอ้ว พี่โน่ ดีใจมากกก.. ตลอด 10 ปี เหลือกำไร 29,000 บาท ฉลองเลย >>> โอ้ว..ลืมคิดค่าแรงตัวเอง และค่าบำรุงรักษา ตลอดระยะเวลา 10 ปี

            - พี่หนุ่ย ติดตั้งเองไม่เป็นเลย จ้างพี่เจ๋ง ช่างระดับเทพ รับติดตั้งโซล่าเซลล์ 5 KW ในราคา 130,000 บาท อืม! เข้าท่าแฮะ ติด 10 ปี ยังเหลือกำไรอีกตั้ง 25,000 บาท >>> แต่อย่าลืมเด้อ ต้องมีค่าบำรุงรักษา ติดตั้งแล้ว ต้องดูวัสดุ อุปกรณ์ การรับประกัน และที่สำคัญ บนหลังคา 3ร้อนๆๆ 3ฝนๆๆ อุปกรณ์ต่างๆที่อยู่บนหลังคา ต้องผ่านให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นอาจต้องเสียเงินรื้อ ติดตั้งใหม่

             - พี่บิลลี่ จ้างโกฮับ ทีมงานติดตั้ง ที่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ ต่างๆมีรับประกัน บริษัทเชื่อถือได้ อยู่ในวงการนานพอควร ไม่น่าจะตีหัวเข้าบ้าน ติดตั้ง 5 KW ในราคา 165,000 บาท  หักลบกลบหนี้ แล้ว ตลอดระยะสัญญา 10 ปี ขาดทุนอีก 11,000 บาท

             - พี่อ๊อฟ จ้างพี่ช้าง เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพงาน มาตรฐานสูงโคตรๆ ติดตั้ง 5 KW ในราคา 350,000 บาท บร๊ะเจ้า ตลอดสัญญาเวลา 10 ปี ขาดทุน 196,000 บาท  แต่เรื่องบริการพี่ช้างเค้าแน่นอน ไม่ต้องกังวลเรื่องมาตรฐานการติดตั้ง

             - พี่ปั่น ทำงานที่บ้าน แบบ Work form Home มีการใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน จันทร์ - ศุกร์  และ วันเสาร์ อาทิตย์ ชอบเที่ยวต่างจังหวัด เสียค่าไฟ เดือนละประมาณ 5,000 บาท  จ้างโกฮับ มาติดตั้งโซล่าเซลล์ ขนาด 5 KW. สรุปแล้ว เสียค่าไฟลดลงเหลือ 3,240 บาท/เดือน (22วันx20หน่วย = 440 หน่วย , ประหยัด 440x4 = 1,760 บาท) และ ได้รับค่าไฟ ที่ขายไฟฟ้าได้อีก 352 บาท ( 8วันx20หน่วย = 160หน่วย , ขายไฟได้ 160x2.2 = 352 บาท ) 

              สรุป พี่ปั่น ประหยัดค่าไฟรวม 1,760+352 = 2,112 บาท/เดือน หรือ 25,344 บาท/ปี (สำหรับปีแรก) รวม 10 ปี หลังจากหักค่าประสิทธิภาพลดลงปีละ 0.8% รวม 10 ปี ได้ค่าไฟ 242,289 บาท   (ค่าไฟจากการใช้เอง 50,477 x 4 = 201,908 บาท   และ ค่าไฟจากการขายไฟ 18,355 x 2.2 = 40,381 บาท )

 

ขอบคุณที่มา https://solarhub.co.th/solar-project/491-wfh-fight-covid-19-residential-sale 

 

4. Q.>>> สรุปถ้าไม่คุ้ม เค้าออกมาให้ขายทำไมฟร๊ะ?

    A.>>> เค้าออกนโยบายมาเพื่อ สำหรับคนที่ใช้ไฟฟ้า ที่บ้านตอนกลางวัน มากๆ แล้วบางวันอาจจะไม่อยู่บ้าน ก็ให้ไฟฟ้าไหลย้อนกลับขายไฟฟ้า ดีกว่าทิ้งเสียไปเฉยๆครับ ดังนั้นคนที่คิดว่าจะลงทุนติดตั้งแล้วมีจุดประสงค์เพื่อขายไฟฟ้า บอกเลยว่าไม่คุ้ม  จะคุ้มค่ามากที่สุดก็ท่านต้องใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน ผลิตจากโซล่าเซลล์แล้วใช้เองเลยให้หมด อย่าให้เหลือย้อนกลับ เราก็จะได้ค่าไฟฟ้า 4บาท/หน่วย โดยอัตโนมัติ

 

5. Q.>>> แล้วอาคารพาณิชย์ หรือบริษัท ขออนุญาตขายไฟฟ้า 2.2บาท/หน่วย ได้รึป่าว?

    A.>>> นโยบายนี้ สำหรับบ้านพักอาศัย ดังนั้นเราไปดูบิลค่าไฟฟ้าเรา ต้องเป็นประเภท 1.x เท่านั้น

  

 

6.Q.>>> ทำเรื่องขออนุญาตขายไฟฟ้า ยุ่งยากรึป่าว ติดแบบไม่ขายไฟ หรือขายไฟดีกว่ากัน ?

   A.>>> แนะนำว่าให้ทำเรื่องขายไฟฟ้าดีกว่า เพราะ  สำหรับกระบวนการขอนุญาตเพื่อขายไฟฟ้า 2.2บาท/หน่วย โซล่าฮับ สรุปไว้ให้แล้ว คลิกเลย

        - การขออนุญาตขายไฟฟ้า มีกระบวนการที่ค่อนข้างชัดเจน (ถึงแม้ว่าจะเยิ่นเย้อ ไม่ได้อำนวยความสะดวกกับผู้ใช้ไฟ ก็ตาม แต่เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้Hahaha..) เพราะการขออนุญาต ขายไฟฟ้า มีระบบยื่นผ่านเว็บแบบออนไลน์ กับเว็บของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งก็จะทำให้ง่ายขึ้นอีกหน่อย ซึ่งข้อมูลก้จะไหลไปยังผู้รับผิดชอบของการไฟฟ้าฯ แต่ละเขต แต่ละพื้นที่โดยตรง แต่สำหรับการขออนุญาตขนานไฟโดยไม่ขายไฟ เราต้องเดินทางไปยื่นเอกสารเองที่การไฟฟ้าเขต ที่รับผิดชอบเอง

        - การขออนุญาตขายไฟฟ้า ไม่ต้องติดตัวกันย้อน หรือ Zero Export ทำให้ประหยัดไปได้อีกนิดหน่อย

        - สำหรับการขอขนานไฟ โดยไม่ขอขายไฟ สำหรับในส่วนของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตัวกันย้อน หรือ Zero Export ต้องขึ้นList หรือผ่านการทดสอบจาก กฟน. ด้วย จึงจะอนุญาตให้นำมาใช้งาน ซึ่งจุดนี้ก็เป็นความยุ่งยากมากๆ เพราะการนำส่ง Zero Export ให้ตรวจอาจต้องใช้ระยะเวลานาน จนเทคโนโลยี เปลี่ยนไปแล้ว จนรุ่นที่นำส่งทดสอบตกรุ่นไปซะแล้ว ซึ่งอินเวอร์เตอร์ ผ่านการทดสอบ แต่ Zero Export ยังไม่ผ่านการทดสอบก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขนานไฟ  >>> ขอสะท้อนความจริง ส่งไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

แต่สำหรับของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดูเฉพาะ อินเวอร์เตอร์ ผ่านการทดสอบ และ Zero Export ไม่ต้องนำเข้าทดสอบ

 

7.Q>>> ขออนุญาตขายไฟฟ้า เสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่กันนิ?

   A.>>> ขอขายไฟฟ้า เสียค่าเปลี่ยนดิจิตอล มิเตอร์ แบบนับหน่วยไฟฟ้าเข้า และออก (Import และ Export) โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้

             ชำระค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า การตรวจสอบระบบอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

รายการค่าใช้จ่าย (บาท)ค่าใช้จ่ายรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (บาท)
1. ค่าดำเนินการติดตั้ง และบำรุงรักษาเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ตลอดอายุการใช้งาน7,500.008,025
2. ค่าทดสอบ/ตรวจสอบ อุปกรณ์ป้องกัน1,000.001,070
3. ค่าแรงในการเปลี่ยนเครื่องวัดฯ แรงต่ำ1,205.611,290
4. ค่าแรงในการเปลี่ยนเครื่องวัดฯ แรงกลาง1,869.162,000

 

หมายเหตุ:

1) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่เคยขอขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือผู้ผลิตไฟฟ้าที่เคยขอขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และยังไม่ได้ชำระค่าใช้จ่ายในการขอเชื่อมต่อ หรือผู้ผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในโครงการ Solar (นำร่อง) เสรี ปี 2559 จะต้องชำระค่าใช้จ่ายข้อ 1 และ 2 รวม 9,095 บาท
2) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่เคยขอขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และชำระค่าใช้จ่ายในการขอเชื่อมต่อแล้ว จะต้องชำระค่าใช้จ่ายข้อ 2 เท่ากับ 1,070 บาท
3) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้อัตรา TOU จะต้องชำระค่าใช้จ่าย ดังนี้
     3.1) กรณีติดตั้งเครื่องวัดฯ TOU จะต้องชำระค่าใช้จ่ายข้อ 2 และ 3 หรือ 4 (ตามระดับแรงดัน) เท่ากับ 2,360 บาท และ 3,070 บาท ตามลำดับ
     3.2) กรณีติดตั้งเครื่องวัดฯ TOU800 จะต้องชำระค่าใช้จ่ายข้อ 1 และ 2 รวม 9,095 บาท

 

 โปรดติดตาม EP2 ที่จะตอบคำถามที่คาใจใครหลายๆคน ซึ่งจะเข้มข้นขึ้นไปอีก....

EP2 >>> รวมคำถาม คำตอบ ติดตั้งโซล่าเซลล์ โซล่าฮับสรุปไว้ให้แล้ว EP2