fbpx

เมื่อวันที่ 13-15 ม.ค.60 ทีมงานโซล่าฮับ มีโอกาส ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ แบบอ๊อฟกริด เพื่อใช้สำหรับปั๊มซับเมอร์ส (หรือปั๊มแบบจุ่ม) ดูดน้ำ แล้วดันน้ำส่งขึ้นแทงค์น้ำสำรองสำหรับการใช้งานการเกษตร ณ ห้องเรียนสาขาบ้านหาดแตง โรงเรียนบ้านโป่งหวาย อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งจากการทดลองใช้งานก็สามารถใช้งานได้ดี ถึงเวลา 5โมงกว่าตอนเย็น ซึ่งแดดเริ่มอ่อนแล้ว ปั๊มก็ยังดูดน้ำได้ ทีนี้เรามาดูไดอะแกรมการต่อใช้งานแบบคร่าวๆ ที่ได้เคยอธิบายไปก่อนหน้านี้ตามรูปแรกด้านล่าง  ทั้งนี้ที่บ้านหาดแตง นี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยระบบโซล่าเซลล์เป็นส่วนใหญ่

ในเบื้องต้นนี้ก็ขอกล่าวเฉพาะในส่วนของอุปกรณ์หลักๆ ที่ใช้งาน เท่านั้น (หากกล่าวด้วยเกรงว่าจะยาวเกิน) เพราะจริงๆต้องมีเรื่องของ ชุดเบรคเกอร์ ฟิวส์ เซิร์จโปรเทคชั่น สายไฟ ท่อน้ำ ฯลฯ ก็ขอข้ามไปก่อน ทางทีมงานได้เขียนเป็นรูป 3-D เพื่อให้ดูได้เข้าใจง่ายๆ ตามรูปด้านล่างนี้ และ มีรูปการติดตั้งจริงที่หน้างานที่แถมด้วยวิว อ่างเก็บน้ำส่วยที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

โดยในการติดตั้งครั้งนี้ทางโรงเรียนได้จัดเตรียมแพหรือทุ่นลอย ไว้ให้กับทีมงานโซล่าฮับไว้อยู่แล้ว (มีชาวบ้านผู้ใจบุญบริจาคให้กับทางโรงเรียน ก็ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้) โดยทีมงานโซล่าฮับก็นำชุดจับยึด หรือเมาท์ติ้ง มาติดตั้งในแพก็เป็นอันสำเร็จ

 

 

อุปกรณ์หลักที่ใช้

1. แผงโซล่าเซลล์ (PV) ยี่ห้อ REC (แบรนด์จากประเทศนอรเวย์) ขนาด 315 วัตต์ (w.) และมีค่าแรงดัน Vmpp = 37.5 โวลท์(v)  , ค่ากระแสช็อตเซอร์กิต Isc = 8.93 A  ซึ่งในครั้งนี้เรานำมา 8 แผง มาต่ออนุกรมกัน เพื่อให้ได้ค่าแรงดันไฟฟ้าที่เหมาะสม สำหรับเป็นอินพุทให้กับ อุปกรณ์ Solar Pump Inverter โดยเมื่อต่ออนุกรมกันแล้วก็จะได้ค่าแรงดันประมาณ 200 - 300 กว่าโวลท์ ขึ้นอยู่กับความแรงของแดด ถ้าแดดแรงค่าโวลท์ ก็จะสูงขึ้นและปั๊มน้ำก็จะดูดได้แรงขึ้นด้วย

2. Solar Pump Inverter ยี่ห้อ โนเวม ซึ่งมีหน้าที่ แปลงไฟฟ้า DC ที่มาจาก PV ให้เป็นไฟฟ้า AC 3 เฟส 220 V 

บางท่านอาจสงสัยว่าแล้วทำไม เราใช้ อินเวอร์เตอร์ แบบทั่วไป มาต่อใช้งานกับมอเตอร์ ได้ไหม? ตอบเลยว่าไม่เหมาะเนื่องจาก ตอนมอเตอร์สตาร์ท หรือตอนเริ่มทำงานจะกินกระแส เพิ่มขึ้นจากเวลาปกติมากกว่า 3เท่า ดังนั้น หากเราใช้อินเวอร์เตอร์ แบบทั่วไป เราก็ต้องเพิ่มแผง และขนาดของอินเวอร์เตอร์ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลืองและอีกทั้งอาจทำให้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องใหม้หรือเสียหายได้อีกด้วย

สำหรับ Solar Pump Inverter ก็มาช่วยในจุดนี้ คือพยายาม ควบคุมแรงให้คงที่ ในขณะสตาร์ท ซึ่งก็ทำให้ค่ากระแสไฟฟ้าขณะสตาร์ทไม่สูงขึ้นตามไปด้วย หรือเราก็อาจจะเรียกว่าเป็น อินเวอร์เตอร์ แบบ ซอฟท์สตาร์ท (Soft Start)

 

3. ซับเมอร์ส ปั๊ม (Submersible Pump) จากรูปหน้างานแทงค์น้ำอยู่บนเนินเขาที่สูงจากพื้นน้ำ ประมาณ 30 ม. (ค่านี้ส่วนใหญ่ช่างเรียกว่า ค่าHead) และมีระยะทางจากปั๊มไปยังแทงค์น้ำประมาณ 120 ม. เราจึงต้องเลือกขนาดมอเตอร์ให้เหมาะสมและขึ้นอยู่กับงบประมาณในการติดตั้งด้วย  ในที่นี้เราเลือกเป็นปั๊มขนาด 2 แรงม้า(Hp.) ขนาดท่อส่ง 2 นิ้ว โดยการเลือกใช้เราก็ต้องดูสเป็คหรือดาต้าชีต ของบริษัทผู้ผลิตปั๊ม มาประกอบการพิจารณา